หนังสือเล่นได้ ตัวช่วยในวันที่นึกไม่ออกว่าจะเล่นอะไรกับลูก
การเลือกใช้หนังสือให้เหมาะกับพัฒนาการตามช่วงวัยของลูก เป็นคำตอบของคำถามที่มักพบได้บ่อยว่า ทำไมลูกถึงไม่สนใจหนังสือ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เด็กเกิดมาพร้อมกับความสนใจ อยากเรียนรู้โลกกว้างเป็นทุนเดิม ขอเพียงแค่เราเลือกหนังสือที่ตรงกับวัย ตรงกับความสนใจในแต่ละช่วงของลูกได้
เราเริ่มอ่านนิทานที่มีถ้อยคำสละสลวยให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง รวมถึงตอนที่ลูกยังแบเบาะ แต่เมื่อระบบสัมผัสการรับรู้ของลูกดีขึ้น ตาเริ่มมองเห็นและจดจ้องได้นานขึ้น เริ่มหยิบจับข้าวของที่อยู่ใกล้ตัว ในวัยประมาณ 8-12 เดือน เราสามารถเลือกหนังสือประเภทบอร์ดบุ๊ก ที่มีความทนไม้ทนมือ และมีลูกเล่น เช่น เปิดปิดซ่อนหา ขยับไปมาได้
หนังสือนิทาน “เจี๊ยบน้อยเล่นซ่อนหา” และ “เจี๊ยบน้อยกับเพื่อน” เป็นนิทานบอร์ดบุ๊ก ที่สามารถเปิด-ปิด ประกอบการซ่อนหาตัวละครใครเรื่อง ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าและเล่นไปพร้อมๆ กันได้ ประโยชน์ที่ซุกซ่อนอยู่ในการเปิดปิดซ่อนหานั้น คือเมื่อเด็กๆ สนใจอยากรู้ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่คืออะไร เขาจะตั้งใจจดจ่อ ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องรู้จักอดใจรอให้ถึงจังหวะที่เรื่องราวพาไปถึงตอนเปิดภาพ ทำซ้ำเป็นจังหวะที่ต่อเนื่องแบบนี้ไปจนจบเล่ม เป็นโอกาสทองของการสร้างทักษะสมอง EF ในด้านของการจดจ่อรอคอย และการกำกับตัวเอง
นอกจากจากนิทานชุดเจี๊ยบน้อย จะใช้เป็นสื่อกลางการอ่านไปเล่นไประหว่างพ่อแม่ลูกได้แล้ว ในวันที่เราแสนจะยุ่ง ลองปล่อยให้ลูกอยู่กับหนังสือตามลำพัง ให้เขาได้สำรวจ พลิกเปิดไปมาด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าหนังสือจะพัง เพราะรูปเล่มเป็นบอร์ดบุ๊ก เอื้ออำนวยให้สำรวจได้เต็มที่อยู่แล้ว เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งนี้คือหนังสือ สำรวจรูปแบบของมัน จนจดจำได้ เมื่อมารวมเข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ คือเมื่อใดที่มีหนังสือ เมื่อนั้นจะมีเรื่องเล่า มีพ่อแม่มาเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟัง มีภาพสวยๆ น่ารัก เหล่านี้จะค่อยๆ ประกอบรวมเป็นความประทับใจต่อหนังสือ ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นความรักที่จะอ่าน ก่อนอ่านหนังสือเป็น