ทำความรู้จัก วรรณกรรมเล่มแรก กับผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก
“เด็ก ๆ ทุกคนชอบฟังนิทาน” เชื่อว่าเมื่อคุณพ่อ คุณแม่ทุกคนที่ได้ยินคำนี้จะพยักหน้าเห็นด้วยอย่างแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านิทานคือส่วนประกอบหนึ่งของช่วงวัยเด็ก แต่เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น การอ่านหรือฟังนิทานอาจไม่ท้าทายสักเท่าไหร่ บางครั้งรอยต่อการอ่านของเด็ก ๆ อาจหายไปในช่วงวัยนี้ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องยาก ไม่สนุก แต่หากเราพาเด็ก ๆ เดินข้ามสะพานจากนิทานสู่การอ่านวรรณกรรม โดยเริ่มจากการก้าวเล็ก ๆ ไปสู่การอ่านวรรณกรรมที่เหมาะกับเด็ก ๆ ในวัยหัดอ่าน อย่างหนังสือในหมวด วรรณกรรมเล่มแรก
วันนี้พี่หมีขอพาคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองมาทำความรู้จักและเข้าใจ “วรรณกรรมเล่มแรก” ให้มากขึ้นไปกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รพินทร (ณ ถลาง) คงสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังควบบทบาทของบรรณาธิการและนักแปล ที่ฝากผลงานไว้กับเด็ก ๆ ชาวไทยไม่ว่าจะเป็น นิทานชุดชวนหนูรู้จักอารมณ์ หรือชุด หนูคนดีหนูทำได้ อีกด้วย
ความเป็นมาของวรรณกรรมเล่มแรกหรือ chapter book มีมาอย่างไร หน้าที่และรูปแบบของวรรณกรรมเล่มแรกในปัจจุบันวรรณกรรมเล่มแรกมีหน้าที่เหมือนหรือต่างจากสมัยก่อนอย่างไร
จริง ๆ แล้ว Chapter Book หรือวรรณกรรมหัดอ่านมีวิวัฒนาการมากว่า 2000 ปีแล้ว โดยที่เริ่มจากสมัยนั้นวรรณกรรมหัดอ่านยังไม่เป็นสิ่งบันเทิงเหมือนในปัจจุบันนี้ แต่เป็นการย่อยเรื่องยาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ หรือความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก
โดยนำเทคนิคการทำ Chapter Book หรือแม้แต่คัมภีร์ไบเบิลเองที่นำมาแบ่งให้เป็นบท เพื่อให้สั้นและอ่านง่ายยิ่งขึ้น อาจแบ่งตามหมวดหมู่ หรือแบ่งตามคำถาม ชื่อเรื่อง ชื่อตอนอะไร และในเนื้อหามักจะเป็นการตอบคำถามหรือขยายความของหัวข้อหรือชื่อตอนนั้น ๆ เป็นแบบนี้เรื่อยมา ในสมัยก่อนจะไม่เห็นผลงานสำหรับเด็กสักเท่าไหร่ จนกระทั่งวิลเลียม แคกซ์ตัน (William Caxton) นักพิมพ์ชาวอังกฤษคนแรกที่เอาวิวัฒนาการการพิมพ์เข้ามา เขาก็ได้เล็งเห็นว่าตำราความรู้ต่าง ๆ มีประโยชน์มาก ๆ คงจะดีถ้าให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ยากและซับซ้อนแบบนี้ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กอ่านได้ โดยวิลเลียม แคกซ์ตันเป็นคนที่มีจิตวิทยาเด็กดีมาก ๆ เขาได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาแยกย่อยเป็นตอน ๆ และใช้ภาษาที่ทำให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น ปรับให้เหมาะสมกับเด็ก จากนั้นเขาก็ได้พิมพ์ออกมาทีละเล่ม ๆ ต่อเนื่องกัน พิมพ์แจกจ่ายกระจายไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนได้รู้จัก เด็ก ๆ เองก็ได้รู้จักและชื่นชอบ
ปัจจุบันวรรณกรรมหัดอ่านเหล่านี้แตกต่างจากในอดีตอย่างไรบ้าง
ปัจจุบัน Chapter Book เหล่านั้นมีการพัฒนา ไม่ว่าจะด้วยรสนิยม หรือความเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนจากเรื่องราววิชาการ เกล็ดความรู้ต่าง ๆ กลายเป็นนิทานเด็ก เป็นเรื่องเล่าที่สนุกสนาน มีการปรับเปลี่ยนให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านมากยิ่งขึ้น เมื่อคนเขียนรู้ว่าจะต้องเขียนให้เด็กจึงมีการใช้สรรพนาม หรือการใช้สร้อยคำที่เป็นมิตรกับเด็กมากยิ่งขึ้น ที่เด็ก ๆ อ่านแล้วจะรู้สึกสนุกมากขึ้นกว่าการอ่าน Chapter Book ในยุคเดิม ๆ มาก เรียกได้ว่า Chapter Book หรือวรรณกรรมหัดอ่านเป็นหนังสือที่ปรับตามเด็กมาก ๆ เพราะเป็นช่วงรอยต่อของการอ่านที่ง่ายสู่การอ่านที่ยากและยาวขึ้นนั่นเองค่ะ
ในมุมมองของครูผู้อยู่ในแวดวงหนังสือเด็ก วรรณกรรมเล่มแรกช่วยเปลี่ยนโลกของเด็ก ๆ หรือสังคมได้อย่างไร
เด็ก ๆ อาจจะไม่รู้ตัวว่าวรรณกรรมเล่มแรกเป็นสิ่งที่ท้าทายเขา ด้วยธรรมชาติของเด็กที่กำลังเติบโตจากวัยเด็กสู่การเติบโตเป็นวัยรุ่น เด็กมีความกระตือรือร้นในการเติบโตและการไฝ่รู้ ดังนั้นในการเปลี่ยนการจากการอ่านหนังสือภาพแบบง่าย ๆ จากที่คุณพ่อคุณแม่เคยอ่านให้หรือเคยอ่านร่วมกับคุณพ่อคุณแม่หรืออ่านกับคุณครู มันยังไม่ท้าทายเด็กเท่าไหร่ แต่พอเป็นวรรณกรรมเล่มแรกเป็นสิ่งที่เขาต้องเปลี่ยน ต้องเริ่มหัดอ่านเองคนเดียวได้ เริ่มอ่านหนังสือได้คล่องแล้ว จำได้ไหมว่าตอนเด็ก ๆ ที่เราอ่านหนังสือ เราก็ชี้ไปตามคำทีละคำ แต่พอเราสามารถอ่านในใจได้แล้ว เราไม่ต้องอ่านออกเสียง เราอ่านเรื่องที่ยาวขึ้นได้ อยู่ดี ๆ เราก็อ่านหนังสือรู้เรื่อง อ่านเงียบ ๆ คนเดียวได้ นี่คือหัวใจของการอ่านวรรณกรรมหัดอ่าน คือการให้เด็กได้เติบโตในเรื่องของการรู้หนังสือหรือการอ่านหนังสือ เด็กอ่านได้ เด็กคิดได้ เด็กมีสมาธิที่จะอยู่คนเดียวและอ่านด้วยตัวเองได้ เด็กมีสติปัญญาพอที่จะเรียนรู้คำยาก ๆ ได้จากวรรณกรรมหัดอ่านได้ วรรณกรรมหัดอ่านเองเป็นรอยต่อที่ท้าทายสำหรับเด็ก และยังเป็นสิ่งที่จะส่งต่อไปสู่การอ่านหนังสือที่ยากขึ้นด้วย จึงไม่แปลกที่ในวรรณกรรมหัดอ่านจะมีคำศัพท์ที่ยาก ซึ่งปกติอายุ 7-10 ปี เด็กสามารถอ่านหนังสือเองได้แล้ว แต่คำศัพท์ที่ยากจะท้าทายให้เขาได้ไปหาอ่าน ไปค้นคว้าต่อ หรือจะสอบถามผู้ใหญ่ หรือจะเดาเอง หรือมันจะจุดประกายอะไรหลาย ๆ อย่างจากเรื่องที่เขาอ่าน และเขาก็พร้อมที่อ่านเล่มที่ยาก ๆ ต่อไป
เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับวรรณกรรมเล่มแรกมีอะไรบ้าง
ปัญหาอย่างหนึ่งของวงการวรรณกรรมสำหรับเด็ก ไม่ใช่เฉพาะแค่วรรณกรรมหัดอ่าน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่มักตัดสินแทนเด็ก มักคิดแทนเด็ก โดยที่ลืมไปแล้วว่าเราเคยเติบโตมาอย่างไร มันอาจจะไม่เหมือนกับยุคสมัยเราก็ได้ ยุคสมัยต่างไป เราเติบโตมาแบบนึง แต่เด็กสมัยนี้ก็ต้องการความท้าทายหรือบริบททางสังคมแวดล้อมให้เด็กมีความคิดอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากเรา ดังนั้นเราไม่ควรจะเอาความรู้ที่มี หรือเอาประสบการณ์ของเราไปตัดสินเด็ก แต่ควรจะให้เขาได้ทดลองอ่าน เวลาไปร้านหนังสือครูจะชอบมากเลยที่ผู้ปกครองปล่อยให้ลูกได้เลือกอ่านเลือกหยิบหนังสือเอง และคุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยสแกนอีกก็ไม่ผิด เพราะเราเป็นพ่อแม่ย่อมอยากให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด เรื่องของวรรณกรรมเล่มแรกนี่บางทีมีคุณพ่อคุณแม่บอกว่าภาพไม่มีสี บางเล่มก็มีสีหรือสี่สีทั้งเล่ม การที่ไม่มีสีครูมองว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องมีสีเสมอไปก็ได้ การที่ให้เขาอยู่กับความจริงที่เป็นสีขาวดำ ให้เขาอยู่กับความเป็นจริงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสีสันสดใสตลอดเวลา หรือถ้าเด็กยังอยากระบายสีอยู่ก็ให้เด็ก ๆ ได้ลงมือระบายสีตามจินตนาการของเขาได้ ครูมองว่าก็เป็นความคุ้มค่าแบบนึง แต่สิ่งสำคัญคือการที่พ่อแม่เข้าใจว่า ความท้าทายเป็นสิ่งสำคัญ ความท้าทายจากการอ่านสิ่งที่ง่าย ๆ สู่สิ่งที่ยากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความภาพคภูมิใจในตัวเอง และวรรณกรรมหัดอ่านไม่ใช่สิ่งที่โหดร้าย เพราะเป็นหนังสือที่จบไปทีละตอน ๆ บางครั้งอาจจะจบในตอนที่กำลังตื่นเต้นพอดี ก็จะเป็นการยั่วให้เด็ก ๆ อยากอ่านตอนต่อไป ซึ่งเด็กเองจะสัมผัสได้ ซึ่งหนังสือกับเด็กเขาคุยกัน เขารับรู้ ซึ่งคนที่ไม่ได้อ่าน ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้อ่านอาจจะไม่เข้าใจ หรืออาจจะมองข้ามว่าถ้าเราเป็นเด็กจะรู้สึกอย่างไร ควรจะให้เด็กมีสิทธิเลือกในการตัดสินใจ อีกอย่างนึงคือ วรรณกรรมหัดอ่านเป็นส่วนผสมระหว่างหนังสือ การ์ตูน และวรรณกรรมเยาวชน ครูว่าคนคิดเก่งมากเลย มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะยังมีภาพอยู่ ตัวหนังสือก็ยังใหญ่ อ่านง่าย บางครั้งอาจจะอ่านไปแล้วจบตอนรู้สึกเหนื่อยก็สามารถพักได้ แล้วเดี๋ยวค่อยมาอ่านต่อ หรือจะอ่านวันละบทก่อนนอนก็ได้ เป็นการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กได้ พ่อแม่ก็ยังอ่านให้ลูกฟังได้อยู่ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถเล่นกับลูกได้ เช่น อาจจะแกล้งลืมหรือแกล้งอ่านไม่ออก เด็ก ๆ สามารถอ่านเองได้ นี่คือความภาคภูมิใจในการอ่านของเด็ก และเสน่ห์ของวรรณกรรมหัดอ่านคือการอ่านเป็นซีรีย์ ถ้ามีเล่มหนึ่งก็อยากที่จะเป็นเล่มที่สองหรือเล่มต่อ ๆ ไป และเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกอยากที่จะอ่านเล่มต่อ ๆ ไป ซึ่งมันก็เป็นความภาคภูมิใจที่ต้องการให้ครบทุกเล่ม
หากเปรียบวรรณกรรมเล่มแรกเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คิดว่าควรเปรียบวรรณกรรมเล่มแรกเป็นสิ่งใด เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้ชัดเจน
ถ้าเปรียบเทียบว่าวรรณกรรมหัดอ่านคืออะไร ในมุมมองของครูมองว่ามันเหมือนบันได ที่มันชันขึ้นนิดหน่อย จากที่พื้นลาด ๆ เด็กคลานเด็กเดินเตาะแตะไป พอจะต้องขึ้นบันไดหรือการอ่านวรรณกรรมหัดอ่านเนี่ย มันคือบันไดที่ชันขึ้นและมีขั้นที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ได้ทิ้งให้เด็กเดินขึ้นคนเดียว แต่เป็นบันไดที่มีราวจับ ด้วยรูปแบบที่ง่ายและตัวหนังสือที่ยังใหญ่อยู่ ด้วยภาพที่ยังมีอยู่ ไม่ได้ทิ้งให้เด็กอยู่ท่ามกลางตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว และการแบ่งตอนให้เด็กได้พัก ดังนั้นมันคือบันไดที่มีชั้นพัก เด็ก ๆ เหนื่อย เด็ก ๆ หยุดพัก มีราวให้หนูจับ เด็ก ๆ ไม่ได้ถูกทิ้งให้อ่านแบบไม่รู้เรื่อง เมื่อเด็ก ๆ อ่านแล้วรู้สึกดว่าอ่านไม่รู้เรื่อง เด็ก ๆ ก็จะไม่อยากอ่าน ตัววรรณกรรมหัดอ่านเองมีวิธีสื่อสารกับเด็กที่ง่าย การใช้ภาษาที่ง่าย เพราะฉะนั้นเขาจะก้าวขึ้นบันไดที่ชันขึ้น เพื่อที่ในอนาคตเขาจะขึ้นก้าวขึ้นบันไดที่ชันและไม่มีราวจับได้ ซึ่งเด็กก็จะสามารถขึ้นไปเองได้จนถึงสุดยอดที่เขาอยากจะไป ครูจึงมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เชื่อมต่อไปสู้การอ่านหนังสือที่มีความละเอียดและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันวรรณกรรมหัดอ่านมีมากขึ้นและได้รับความนิยมจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน อาจเนื่องด้วยจากการตะหนักว่าเด็ก ๆ ไม่ควรอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน การดึงเด็ก ๆ ออกจากโลกหน้าจอ ให้มาอยู่กับโลกของวรรณกรรมมีมากขึ้นและไม่ทำลายสายตาเด็ก 7-10 ปีเนี่ย คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญมาก
การอ่านวรรณกรรมเล่มแรกก่อนไปอ่านวรรณกรรมเรื่องยาวดีอย่างไร
การที่อ่านวรรณกรรมเล่มแรกก่อนที่จะกระโดดไปอ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่องยาวๆเลย ทำให้เด็กได้เตรียมพร้อมและไม่รู้สึกตกใจเมื่อเห็นตัวอักษรเยอะๆ ซึ่งอาจะส่งผลให้เด็กกลัวที่จะอ่านวรรณกรรมเรื่องยาวไปเลยด้วย วรรณกรรมเล่มแรกขึงเข้ามาเติมช่องว่างระหว่างการอ่านที่ขาดช่วงไป เพื่อเป็นสะพานทอดไปสู้การอ่านที่มีคุณภาพขึ้นในอนาคตด้วย
อยากจะฝากอะไรถึงคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองที่
ให้โอกาสลูกได้เลือกได้เลือกในสิ่งที่เขาสนใจ ให้เขาได้เลือกในสิ่งที่ท้าทายตัวเอง ครูเชื่อว่าเด็กมีความสามารถในการอ่าน การเรียนรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปบังคับเขา ให้เขาได้ค่อย ๆ อ่าน แล้ววรรณกรรมเล่มแรกยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้เช่นเดียวกับการอ่านนิทาน และยังใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการอ่านอย่างมีสมาธิ ต่อยอดจากหนังสือภาพ อ่านเองได้ อ่านกับพ่อแม่ก็ได้ อ่านกับเพื่อนก็ได้ หรือจะนำไปทำแสดงเป็นละคร นิทานก็ได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงวัย 7-10 ปีเนี่ย เป็นช่วงวัยที่มีจินตนาการและพลังงานสูงมาก เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะให้โอกาสเด็ก ๆ ในการเลือก ให้โอกาสในการอ่านและยังมีเวลาที่จะอ่านกับเขาได้ เพื่อส่งต่อให้เขาเป็นนักอ่านต่อไปในอนาคต เพราะถ้าขาดช่วงตอนนี้ไป เขาจะขาดการเติบโตเป็นนักอ่านที่ดีต่อไป
