นารีนครา
นวนิยายสะท้อนสภาพสังคมและความงามของ “ความเป็นหญิง” ในบทบาทหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่ ภรรยา และความเป็นเพื่อนแท้ สะท้อนวีรกรรมอันเกิดจากดวงใจแกร่งแท้ดั่งเหล็กกล้าของหญิงซึ่งดำเนินมาแล้วในอดีต ดำรงอยู่ในปัจจุบันและสืบเนื่องต่อไปในอนาคต
"นารีนครา" พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่มนี้ เป็นนวนิยายสมัยใหม่ของ "ฉือลี่" นักเขียนหญิงผู้มีชื่อเสียง สร้างวรรณกรรมร่วมสมัยของจีนหลายเรื่อง เนื้อหาในเล่ม เป็นเรื่องราวสะท้อนสังคม และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความงดงามของ "ความเป็นหญิง" ซึ่งมิได้หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอกอันชวนให้หลงใหล หากแต่อยู่ในพลังและบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่ ความเป็นภรรยา และที่สำคัญที่สุดคือความเป็นเพื่อนแท้ ผ่านตัวละครสำคัญ 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ที่ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในมิติต่างๆ และได้ถ่ายทอดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในกระแสสังคมที่มีการะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน
การเชิดชู "ความเป็นหญิง" ในนวนิยายนี้ ทวีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อผู้เขียนใช้ฉากสำคัญคือ "นครอู๋ฮั่น" ซึ่งเป็นนครที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยาวนาน การบรรยายฉากอย่างละเอียดให้เห็นชีวิต ความงาม และความยิ่งใหญ่ของนครอู๋ฮั่นนี้ จึงเป็นฉากที่เพิ่มความหมายลึกซึ้งให้กับชื่อเรื่อง "นารีนครา" จนอาจกล่าวได้ว่า "นารีนครา" เป็นนวนิยายที่สะท้อนวีรกรรมอันเกิดจากดวงใจแกร่งแท้ดั่งเหล็กกล้าของหญิง ซึ่งได้ดำเนินมาแล้วในอดีต ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะสืบเนื่องต่อไปในอนาคต